RSS

งานวิจัยสมุนไพรครบวงจร

งานวิจัยสมุนไพรครบวงจร

โดย ภญ. รศ. ดร. มยุรี  ตันติสิระ   ภาควิชาเภสัชวิทยา  คณะเภสัชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       ในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่การใช้สมุนไพรได้รับความสนใจสูงไม่เฉพาะแต่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการใช้ยาเหล่านี้มาอย่างสืบเนื่องและช้านาน เช่น จีนและอินเดีย หรือในบางส่วนของโลกที่ยาแผนปัจจุบัน ยังเป็นสิ่งที่แพงหรือไม่สามารถจะเข้าถึงได้โดยง่ายเท่านั้น   หากแต่กระแสความนิยมสมุนไพรได้เกิดขึ้นในประเทศที่ร่ำรวยและมีการพัฒนายาแผนปัจจุบันมาช้านานเช่น  สหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรปเป็นอย่างสูงด้วยเช่นกัน   ในบางกลุ่มของประเทศเหล่านี้  สมุนไพรจะถูกจัดเป็นยาใน Alternative medicine (การแพทย์ทางเลือก)  ซึ่งก็จะมีการควบคุมดูแลสรรพคุณและความปลอดภัยในลักษณะของยา แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างไปจากยาแผนปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามในบางประเทศเช่น  สหรัฐอเมริกา  ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะถูกจำหน่ายในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร    ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่าการที่จะจดทะเบียนเป็นยาซึ่งจะต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันทั้งสรรพคุณและความปลอดภัย  ทำให้การใช้สมุนไพรขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว  และในบางครั้งก็ก่อปัญหาเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน  ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานสำหรับควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยตรงขึ้นมาใน สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ 

       สำหรับประเทศไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์การใช้สมุนไพรมาช้านาน  ยาสมุนไพรในระดับที่มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมจะต้องมีการขึ้นทะเบียนต่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นยาแผนโบราณ  โดยให้อ้างอิงสูตรและสรรพคุณตามตำรายาไทยที่กำหนด ไม่ต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันสรรพคุณหรือความปลอดภัยเหมือนกับยาแผนปัจจุบันแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้ผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลามานานแล้ว   อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาแผนโบราณหรือที่จะขอเรียกว่ายาแผนไทยเหล่านี้เป็นยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด   และสมุนไพรหนึ่งชนิดก็จะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหรือบำบัดโรคได้หลายอย่าง  ทำให้ยากแก่การที่จะพิสูจน์สรรพคุณหรือคิดค้นสูตรตำรับยาใหม่ๆเพิ่มเติมขึ้นมา  ประกอบกับการเข้าถึงยาและการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นไปได้โดยไม่ลำบาก  ทำให้การพัฒนาของยาแผนไทยได้หยุดชะงักไปเป็นเวลานาน  จวบจนกระทั่งกระแสโลกาภิวัฒน์ของการแพทย์ทางเลือกที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมานี้  ได้ดึงเอาสมุนไพรกลับเข้าสู่ความสนใจของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง  ปัจจุบันเราได้มีสถาบันแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข  มียาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งในระดับพื้นบ้าน (เช่นผลิตภัณฑ์ OTOP) จนกระทั่งในระดับอุตสาหกรรม หลั่งไหลเข้าสู่ท้องตลาดอย่างท่วมท้นทั่วทุกมุมเมือง  มีการจัดประชุมวิชาการ  นิทรรศการเกี่ยวกับสมุนไพรโดยหน่วยงานต่างๆ แทบจะทุกสัปดาห์     ในภาครัฐก็ได้มีการประกาศนโยบายอย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้มีการวิจัยสมุนไพรเพื่อส่งเสริมการใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยที่จะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ กับโครงการวิจัยที่เป็นโครงการบูรณาการหรืองานวิจัยสมุนไพรครบวงจร  

       หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมจึงต้องวิจัยในเมื่อ สมุนไพรเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติย่อมมีความปลอดภัย และหลายๆอย่างก็มีข้อมูลของต่างประเทศให้อ้างอิงอยู่มากมายแล้ว   คำตอบก็คือ  เฉกเช่นเดียวกับเหรียญที่มีสองด้านเสมอ  ทุกสิ่งที่มีฤทธิ์ย่อมมีพิษ  วิธีการใช้อย่างถูกต้องจะเป็นตัวกำหนดว่าท่านจะหยิบได้ด้านใดของสมุนไพรขึ้นมา   และในเมื่อท่านทราบว่าสมุนไพรมาจากธรรมชาติท่านก็คงจะไม่ประหลาดใจที่จะทราบต่อไปว่า  สรรพคุณของยาสมุนไพรเป็นสิ่งที่มีความแปรปรวนได้สูงมากตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมทั้ง สภาพดินฟ้าอากาศของแหล่งปลูก  อายุหรือวิธีเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันอาจทำให้พืชสมุนไพรชนิดเดียวกันมีปริมาณสารออกฤทธิ์ซึ่งก็คือตัวยาสำคัญแตกต่างกันได้หลายเท่าตัว  ดังนั้นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ผู้ใช้จะสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและวางใจในสรรพคุณ  จึงจำเป็นจะต้องเป็นยาสมุนไพรที่มีมาตรฐาน นั่นคือ เราสามารถบอกได้ว่าสารสกัดที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาควรจะประกอบด้วยสารที่มีโครงสร้างทางเคมีประเภทใดในปริมาณเท่าไหร่  รวมทั้งสามารถวิเคราะห์และควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์(ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งชนิด) ในสารสกัดของสมุนไพรนั้นๆให้มีปริมาณใกล้เคียงกันได้โดยตลอดไม่ว่าจะเป็นสารสกัดในครั้งใด      

       ขอยกตัวอย่างในเรื่องของสารสกัดใบแป๊ะก้วยซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง  และถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดอาการหลงลืม   บริษัทผู้ผลิตได้ทำงานวิจัยมาเป็นเวลาเป็นสิบๆปีเพื่อจะศึกษาว่า  สารใดเป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์และสารสกัดมาตรฐานที่จะนำไปผลิตเป็นยาควรจะประกอบด้วยสารกลุ่มไหนปริมาณเท่าใด  อาทิ สารสกัดมาตรฐานจากใบแป๊ะก้วยซึ่งมีชื่อว่า EGb 761 จะประกอบด้วยสารในกลุ่มฟลาโวนอยด็ 24 % และสารในกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์อีก 6 %  บริษัทผู้ผลิตจะต้องควบคุมกระบวนการทุกอย่างตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์  วิธีการปลูก  การบำรุง  รักษาตลอดจนวิธีการสกัดเพื่อให้สารสกัด EGb 761 มีปริมาณสารสำคัญตามที่กำหนดไว้    ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ความมั่นใจกับผู้ที่ใช้ยานี้ว่า  ท่านจะได้รับยาที่มีปริมาณของสารสำคัญที่มีฤทธิ์ เพิ่มปริมาณ เลือดที่ไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอในทุกๆครั้งที่ท่านรับประทานยา  ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรควรจะทราบก็คือ เราไม่สามารถจะนำเอาข้อมูลการออกฤทธิ์ของสารสกัดมาตรฐาน EGb 761  ไปยืนยันสรรพคุณของใบแป๊ะก้วยที่ถูกเตรียมหรือสกัดด้วยวิธีการอื่นๆ  เช่น นำใบแป๊ะก้วยมาต้มน้ำดื่ม  หรือ สกัดใบแป๊ะก้วยด้วยวิธีอื่นๆซึ่งไม่มีการควบคุมสารสำคัญ ดังนั้นขั้นตอนในการกำหนดคุณสมบัติของสารสกัดมาตรฐาน  จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุดในการผลิตยาสมุนไพรที่เชื่อได้ว่ามีสรรพคุณแน่นอน  เนื่องจากงานวิจัยในขั้นตอนนี้ต้องลงทุนสูง มีวิธีการที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และจะทำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างนักวิจัยทางพฤกษเคมีและนักวิจัยทางด้านเภสัชวิทยาอย่างติดต่อสืบเนื่องเท่านั้น  ประกอบกับงานวิจัยในขั้นตอนนี้มักต้องใช้เวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสารสกัดนั้นมีสารออกฤทธิ์หลายชนิด   ดังนั้นในประเทศไทยจึงมีผู้ที่ให้ความสนใจกับงานในลักษณะนี้น้อย

       งานวิจัยสมุนไพรครบวงจรหรือโครงการวิจัยสมุนไพรแบบบูรณาการ  ซึ่งหมายถึงงานวิจัยสมุนไพรที่คณะนักวิจัย ที่มีความชำนาญแตกต่างกันมารวมตัวกันทำงานวิจัยสมุนไพรชนิดเดียวกันอย่างเป็นระบบ  จนในที่สุดสามารถสร้างผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง  วงจรจะครอบคลุมเนื้อหาสาระในสาขาใด หรือมีขนาดเล็กใหญ่เท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย แต่ถ้าเป็นงานวิจัยครบวงจรที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการวิจัยสารที่มีมาตรฐานชัดเจนแล้ว   ก็ยังคงเป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้มากเท่าที่ควรเช่นเดียวกับงานวิจัยโครงการเดี่ยวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างมากมายในอดีต   มาถึงในขณะนี้หลายท่านก็คงมีคำถามเกิดขึ้นว่า  ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีอยู่ท้องตลาดในขณะนี้ได้มีข้อมูลวิจัยสนับสนุนอยู่มากน้อยเพียงใด

       คำตอบก็คือมีข้อมูลวิจัยสนับสนุนอยู่บ้างแต่ไม่สามารถจะยืนยันได้อย่างชัดเจน  เนื่องจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรเกือบทั้งหมดที่เรามีเป็นงานวิจัยของสารสกัดที่ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐาน     ดังนั้นแม้จะมีงานวิจัยของสมุนไพรชนิดเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้โดยตรง   และบ่อยครั้งก็มีรายงานที่ขัดแย้งกัน   ดังนั้นในขณะนี้ จึงเป็นการยากยิ่งที่จะตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร  โดยยึดเหตุผลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ  และที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือการใช้สมุนไพรตามกระแส  และเชื่อว่าสมุนไพรคือความปลอดภัย  เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตที่ขาดความรับผิดชอบทั้งหลายฉกฉวยหาประโยชน์จากคนเหล่านี้  ตัวอย่างเช่น  การเก็บเอาใบแป๊ะก้วยแห้งเป็นใบๆมาใส่ถุงขาย  โดยอาศัยความเชื่อของผู้บริโภคที่ทราบเพียงแต่ว่า  ใบแป๊ะก้วยสามารถใช้บำบัดอาการหลงลืมได้  แต่ไม่ทราบว่าการที่เราจำเป็นจะต้องใช้ใบแป๊ะก้วยในรูปของสารสกัดไม่ใช่เป็นใบๆ  ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า  ในใบแป๊ะก้วยนั้นนอกจากจะมีสารที่มีประโยชน์ตามที่กำหนดไว้แล้วยังมีสารอื่นๆที่เป็นพิษต่อร่างกายซึ่งจะไม่ปะปนมาถ้าหากสกัดสารด้วยวิธีที่ถูกต้อง  ดังนั้นในการวิจัยสมุนไพรครบวงจรนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดสอบทั้งฤทธิ์และพิษของสารสกัดที่จะนำมาใช้เป็นยาในสัตว์ทดลองก่อนจะนำไปทดสอบต่อไปในคน  ซึ่งการทดสอบเหล่านี้ จะต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญในสาขา  ทำการทดสอบด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  และให้ผลการทดสอบที่เที่ยงตรงสามารถทำซ้ำได้

       ในปัจจุบันนี้  มีสถาบันวิจัยและหน่วยงานวิจัยหลายแห่งในสถาบันการศึกษา ที่มีศักยภาพในการทดสอบฤทธิ์ต่างๆของสมุนไพร  แต่หน่วยงานที่มีความพร้อมสูง สามารถทำการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังหรือเรื้อรังได้  ก็คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล  ดังนั้นนักวิจัยในหน่วยงานทั้งสองนี้ จึงมักจะเป็นผู้วิจัยความเป็นพิษของสมุนไพรในงานวิจัยสมุนไพรครบวงจรของโครงการต่างๆ   เพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในด้านที่เป็นคุณและโทษของสมุนไพรในสัตว์ทดลองก่อนที่จะนำไปทดลองใช้ต่อไปในคน หากผลการทดลองในสัตว์บ่งบอกว่าสมุนไพรนั้นมีสรรพคุณที่ต้องการและมีความเป็นพิษต่ำ

        สำหรับคณะเภสัชศาสตร์ซึ่งมีบุคลากรที่มีความชำนาญในสาขาต่างๆหลากหลายได้รวมกลุ่มเพื่อทำงานวิจัยสมุนไพรครบวงจรในระดับต่างๆกันอยู่หลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มวิจัยบัวบกซึ่ง เป็นความร่วมมือของคณาจารย์นักวิจัยในคณะ(ประมาณ 10-15) คนกับนักวิจัยในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ได้รับการสนับ สนุนเงินทุนวิจัยจำนวนประมาณ 16 ล้าน บาท ในเวลา 3 ปี (2546- 2548)      เพื่อพัฒนาบัวบกไปใช้เป็น   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ที่ปัญหาเรื่องหลงลืม หลังจากความพยายามที่จะสกัดแยกและทดสอบสารที่ออกฤทธิ์มากว่าสิบชนิดในเวลา 2 ปีที่ผ่านมา  คาดว่าเราน่าจะได้ข้อสรุปในส่วนของวิธีการสกัดและกำหนดมาตรฐานของสารสกัดที่มีฤทธิ์ที่เราต้องการในเร็ววันนี้  หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการทดสอบความเป็นพิษของสารมาตรฐานและการพัฒนารูปแบบยาเตรียมเพื่อใช้ในมนุษย์  ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี

        จากตัวอย่างงานวิจัยครบวงจรขนาดเล็กที่จำกัดอยู่เฉพาะ งานมาตรฐานทางเคมีของสารสกัด  การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา  รวมทั้งการทดสอบพิษในสัตว์ทดลองดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้คงจะทำให้ท่านพอจะนึกออกว่า งานวิจัยสมุนไพรครบวงจรที่จะต้องครอบคลุมการทดสอบฤทธิ์และพิษทั้งในสัตว์ทดลองและมนุษย์  หรือในบางครั้งจะขยายไปถึงงานในด้านเกษตรกรรมนั้น  จะต้องมีการลงทุนทั้งใน ด้านวิชาการและทุนทรัพย์ในระดับที่สูงเพียงใด   ประเทศไทยจึงจะสามารถสร้างองค์ความรู้ของสมุนไพรที่มีมาตรฐานแน่นอน  เป็นที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ                                   

http://www.pharm.chula.ac.th/clinic101_5/article/herbresearch.htm

 

ใส่ความเห็น